๘ ปี รัฐประหารของคมช. กับประชาคมโลก

10600658_1536190369951330_7774778384211167582_n

บทความจากสมาชิกองค์การเสรีไทย

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

๘ ปี รัฐประหารของคมช. กับประชาคมโลก

โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย

ผมยังจำได้วันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็น คณะมนตรีรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ผมกำลังนั่งรถไฟใต้ดินที่ปารีส ได้รับข้อความจากเพื่อนในกรุงเทพ รู้สึกตื่นเต้นหน่อยหนึ่ง โทรศัพท์ถามข่าวไปมาหลายครั้ง กลับถึงบ้านค่ำๆ เปิดอินเตอร์เน็ต อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทย ก็รู้รายละเอียดมากขึ้น และที่สำคัญ ข่าวมีการตั้งเครือข่าย๑๙ กันยายน ต่อต้านรัฐประหารดังกล่าว มีสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นคนริเริ่ม ซึ่งนับเป็นรัฐประหารครั้งแรกที่คนลุกขึ้นมาต่อต้านทันที รุ่งเช้า หนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศสเกือบทุกฉบับรายงานข่าวเหตุการณ์นี้ น.ส.พ.เลอมงด์(Le Monde) ยักษ์ใหญ่ พาดหัวรองว่า “ เกิดรัฐประหารในประเทศไทย ไม่นองเลือด ” และเป็น King coup ลักษณะหลังนี้ ทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อแดงกับเหลืองขยายตัวและยกระดับ จนนำมาสู่รัฐประหารครั้งหลังสุด ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นี่เป็นท่าทีของสื่อต่างประเทศหนึ่งต่อรัฐประหารของคมช. แต่ระดับรัฐบาลนานาชาติต่อรัฐประหารครั้งนั้น เท่าที่ผมเห็นมีเพียง ๓ ประเทศเท่านั้นที่ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา และฟิลิปินส์ ส่วน อียู แถลงสั้นๆ แสดงความกังวล และหวังว่า คมช.จะคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ ๘ ปีต่อมา ประชาคมโลกแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐประหารในประเทศไทย

เมื่อกลับประเทศไทยในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙ สองวันต่อมา ผมไปร่วมอภิปรายต่อต้านรัฐประหารที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ร่วมกับครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ประวิทย์ โรจนพฤษก ผมขึ้นต้นว่า ผมเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่มีกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ใหนในโลกเห็นด้วยกับรัฐประหาร เพราะการล้มรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชทั่วประเทศทันที คือ สิทธิกำหนดใจตนเอง จะให้ใครบริหารประเทศ ต้องการระบอบการปกครองแบบใด ต่อมา ถุกละเมิดเสรีภาพแสดงความคิดเห็น การพูดเขียน การพิมพ์การโฆษณา การชุมนุม เดินขบวน ฯลฯ จากนั้น ผมชี้ว่า การยึดอำนาจ ๑๙ กันยายน เป็นรัฐประหารสำเร็จครั้งที่๑๑ (ไม่สำเร็จอีก๑๐ กว่าครั้ง ) แม้จะไม่นองเลือด แล้วก็พระมหากษัตริย์ลงนามโปรดเกล้าตั้งพล.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่มันได้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และหยุดการดำเนินระบอบประชาธิปไตยไปอีกครั้ง ทำให้ประชาธิปไตยไม่ลงหลักปักฐานบนผืนแผ่นดินไทยเสียที จำได้ว่า มีคนหนึ่งยกมือขึ้นแสดงความคิดเห็นให้นักศึกษา อาจารย์และกรรมการสิทธิฯนำประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหาร คนนั้น คือ ชินวัตร หาบุญพาด ต่อมา เป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปก)

จากวันนั้น ผมเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ในฐานะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผมได้พบปะกับทูตานุทูต เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ และสื่อมวลชนต่างประเทศ อยู่เสมอ และได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลเหล่านั้น ส่วนใหญ่มีความคิด และท่าทีต่อรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ไม่ชัดเจน คงเป็นมารยาททางการทูต แต่จับได้ว่า ยังมีความคิดติดใจรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไป ในช่วงชุมนุมต่อต้านคมช.และรัฐบาลเผด็จการของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่สนามหลวง ๗๕ วัน ในปีต่อมา ผมพบบรรดาทูต เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป (European Union-EU ) ในงานวันชาติของประเทศต่างๆเช่น งานวันชาติ อเมริกา ๔ กรกฎาคม งานวันชาติฝรั่งเศส วันครบรอบ๘๐ พรรษาของกษัตริย์หญิงอังกฤษ ฯลฯ ท่าทีของท่านทั้งหลายยังไม่เปลี่ยนเท่าใหณ่ ยกเว้นประเทศเล็กๆ เช่น อาเย็นตินา สาธารณรัฐเชค โปแลนด์ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและเผด็จการ

๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ สภานิติบัญญัติแห่งชาติของคมช.ถอดถอนผมจากเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นเดือนธันวาคม ปีนั้น ผมเดินทางไปร้องเรียนต่อหน่วยสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน(Office of the High Commissioner for Human Rights) สหประชาชาติ ณ.กรุงเจนีวา เจนีวา และไปบรัสเซล พบผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่อียูด้านประเทศไทย รวมทั้งพบผู้อำนวยการฝ่ายเอเซีย สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (International Federation for Human Rights) ที่ปารีส คาดอยู่แล้วว่า คนต่างประเทศ ไม่เฉพาะใน๓ องค์การจะไม่เข้าใจสถานการณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ผมจึงเขียนบทความ “ ช่วยเข้าใจสถานการณ์ประเทศไทย “ นำติดตัวไปแจกจ่าย

ในบทความชิ้นนั้น ผมชี้ว่า จะเข้าใจรัฐประหารและสถานการณ์ประเทศไทย จะต้องย้อนกลับไปถึงรัฐบาลทักษิณเมื่อ ๖ ปีก่อน รัฐบาลดังกล่าวนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศไทย เป็นรัฐบาลที่มีนโยบายก้าวหน้าและปฏิบัติได้จริง คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินและสั่งข้าราชการได้จริง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกระเตื้อง เจริญเติบโต แก้ปัญหาของประชาชนคนยากคนจนเป็นลำดับ ทำให้ประชาชนนิยมดร.ทักษิณ นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และพรรคไทยรักไทย แต่ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีบทบาท ชนชั้นสูงหวาดกลัว ข้าราชการ ทหาร นักธุรกิจนายทุน นักวิชาการ เอ็น จี โอ และคนชั้นกลางไม่พอใจ เข้าสมัย ๒ กลุ่มเหล่านี้รวมตัวกันโดยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นหัวหอกเคลื่อนไหวขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณอย่างขนานใหญ่ติดต่อกัน๒ เดือน บนสถานการณ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตร และบรรดาศาล และองค์การอิสระโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมวงยกเลิกผลการเลือกตั้งทั่วไป ๔ เมษายน ๒๕๔๘ กองทัพกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ และล้มเลิกระบอบประชาธิปไตย
สถานการณ์รัฐประหารครั้งนี้มีสภาพที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ ปัญญาชน คนชั้นกลางกว่าร้อยละ๗๐ เห็นด้วย เพราะเห็นว่า เป็นวิธีการเดียวขับไล่รัฐบาลทักษิณ นับไม้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก เพราะในทุกประเทศ(รวมทั้งประเทศไทยก่อนหน้านี้) คนชั้นกลาง และปัญญาชน เป็นพลังประชาธิปไตย และคมช. ชูคุณธรรม ศีลธรรม และเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอุดมการณ์ แต่อีกด้านหนึ่ง เป็นรัฐประหารที่มีคนลุกขึ้นมาต่อต้านทันที ไม่เหมือนครั้งก่อน รัฐประหารครั้งที่๒ ของจอมพลของสฤษดิ์ ธนะรัชต รอจนตาย ประชาชนกล้าต่อต้าน รัฐประหารของคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ( รสช.)เมื่อวันที่๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ต้องรอ ๘ เดือนจึงเกิดกระแสต่อต้าน

เจ้าหน้าที่องค์การดังกล่าว รวมทั้งทูตานุทูตมักแสดงความคิดเห็นว่า รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ไม่นองเลือด ไม่กวาดล้าง จับกุม หรือเข่นฆ่าประชาชนเหมือนในประเทศอื่นๆ ผมบอกว่า รัฐประหารที่สำเร็จในประเทศไทยไม่เคยนองเลือด ให้เห็นเลือดหรือ ประชาคมโลกจึงมีท่าทีประนาม และที่สำคัญ รัฐบาลประเทศต่างๆไม่อยากแสดงท่าที เพราะเป็นรัฐประหารที่รับรองโดยกษัตริย์ ผมบอกว่า ในรัชกาลของพระองค์ มีรัฐประหารมาแล้ว๑๐ ครั้ง ไม่มีปัญหาเลย แล้วอย่างไง ผมถามพวกเขา เพราะรัฐหาร แม้ไม่ปราบปรามอย่างนองเลือด แต่มันล้มระบอบประชาธิปไตย สถาปนาระบอบเผด็จการทหาร จำกัดสิทธิ เสรีภาพ และควบคุมพลเมือง ท่านคิดเห็นอย่างไร

ปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ ช่วงที่พันธมิตรฯยึดทำเนียบรัฐบาล ผมไปสหรัฐอเมริกา เขียนบทความรัฐประหารโดยตุลาการ(judicial coup d’etat)ไปแจกคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ ของวุฒิสภา องค์การประชาธิปไตยและองค์การสิทธิมนุษยชนที่นั่น ผมคาดว่า จะเกิดรัฐประหารโดยตุลาการในไม่ช้านี้ แล้วก็จริง ๙ กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญชี้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของท่านล้มลง ปลายเดือนพฤศจิกายนในรัฐบาลสมชาย ผมไปพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยของอียู จากนั้น ผมไปเยอรมัน เพื่อพบเจ้าหน้าที่สมาชิกรัฐสภา ผู้อำนวยการกองนโยบาย กระทรวงต่างประเทศ และสื่อมวลชน วันไปถึงเบอร์ลิน พันธมิตรไปปิดสนามบินสุวรรณภูมิ รุ่งเช้าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่รายงานข่าว และภาพกลุ่มพันธมิตรเสื่อเหลืองชูธงชาติปิดสนามบิน พาดหัว “ เกิดการปฏิวัติในประเทศไทย “ ผมบอกกับคนที่นั่นว่า ไม่ใช่การปฏิวัติ หากเป็นพวกอนุรักษ์นิยม เอียงไปในทางฟาสซิสต์ และจงรักภักดี เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีก สุดท้าย วันที่๒ ธันวาคม เกิดรัฐประหารโดยตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน ล้มรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลงไป ประชาคมโลก ก็ไม่ได้สนใจ เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องของศาล

ช่วงนั้น ผมจึงได้ข้อสรุป ทำไมประชาคมโลกจึงไม่วิตกกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศไทย ดังนี้

๑. ประเทศไทยไม่เคยมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเลย คนไทยไม่เคยมีตำแหน่งสำคัญในองค์การระหว่างประเทศ เพิ่งได้ตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าโลก เพราะฉนั้น จะทำให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญของประเทศไทยได้อย่างไร

๒ . สถานการณ์ในประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ช๊อคโลก ไม่รุนแรงเหมือนในประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย

๓. ประชาคมโลกยังค้างคาใจรัฐบาลดร.ทักษิน แทนที่ติดใจรัฐประหาร

๔. ฝ่ายเรา ทั้งรัฐบาล พรรคไทยรักไทย ต่อมา เป็นพรรคพลังประชาชน และนปช.มีคนทำงานต่างประเทศไม่กี่คน