บทเรียน 6 ตุลา 2519

1909237_1544010419169325_6016899893802960750_o

บทเรียน 6 ตุลา 2519

ตั้งแต่ตี 1 ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ย่างเข้าวันที่6ตุลาคม วิทยุยานเกราะรายงานข่าวว่า กองกำลังตำรวจตระเวณชายแดนเคลื่อนเข้าพิพิธภัณท์สถานแห่งชาติ เสียงกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านดังมากยิ่งขึ้น หน่วยรักษาความปลอดภัยรวมกันไปเฝ้าประตูด้านหอประชุมใหญ่ ผมเดินไปดูสถานการณ์หน้าหอประขุมใหญ่ ตี 4 กว่าๆ เสียงปืนดังแผดก้องนัดหนึ่ง ลูกกระสุนตกลงกลางที่ชุมนุม นักศึกษาวิ่งหลบ โกลาหลครู่หนึ่งสงบ มีคนวิ่งมาบอกว่า มีคนตายและบาดเจ็บหลายคน กำลังพาไปห้องพยาบาล

ต่อมารู้กันว่า เป็นกระสุนปืนเอ็ม79 ยิงมาจากวัดมหาธาตุ ผมยังอยู่ที่เดิมหัวมุมสนามฟุตบอลเยื้องตึกคณะนิติศาสตร์ ตรงกันข้ามพิพิธภัณท์ อีกไม่นาน เสียงปืนรัวดังสนั่นมาจากด้านพิพิทธภัณท์เป็นชุดๆ ผมล้มลงหลบกับพื้นถนน ลูกกระสุนปลิวผ่านหัวราวห่าฝน ผมได้กลิ่นเลือด หันไปดูเห็นนักศึกษาที่นอนหลบบนฟุตบาทคนหนึ่งถูกกระสุนที่หัวเลือดกระจายสมองไหล

ตำรวจตระเวณชายแดนยังคงระดมยิงใส่ผู้ชุมนุมต่อไป นักศึกษาประชาชนวิ่งหลบกระสุนไปยังตึกคณะบัญชี ผู้อยู่ใกล้ตึกนิติศาสตร์ วิ่งไปหลบเต็มเฉลียงชั้นล่างของบนตึก ผมได้ยินเสียงตะโกน “พวกมันตายหมดแล้ว” ให้กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านในสนามหลวงบุกเข้ามา ผมเห็นรถเมล์ขาวพังประตูเข้ามา เสียงปืนหยุดลงชั่วครู่ เปิดทางให้พวกนั้นที่ยึดรถเมล์ขาวบุกเข้าธรรมศาสตร์ ผมจึงลุกขึ้นวิ่งหนีไปทางคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ไปหลบอยู่คนเดียว จากพวกกระทิงแดงลูกเสือชาวบ้าน

บนเวที ธงชัย วินิจกุลพูดขอร้องตำรวจอย่ายิงนักศึกษา ตลอดเวลา

ผมเห็นกลุ่มคนที่บุกเข้ามา เข้ามาในตึก พากันเอาทรัพย์สินที่ถือได้ เช่น พัดลมโทรศัพท์ ออกไปเหมือนโจรปล้นบ้าน ในสนามหลวง เห็นตำรวจขู่เข็นให้นักศึกษาประชาชนถอดเสื้อนอนควำ กลุ่มลูกเสือชาวบ้านร้องเพลงหนักแผ่นดิน ประสานกับการคอกคำราม ต่อมา เป็นข่าวพวกนั้นทำร้าย เข่นฆ่า เอาผ้าผูกคอลูกเสือชาวบ้าน ผูกคอนักศึกษาลากลากจนตายคาสนามฟุตบอล ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ นักศึกกลายคนถูกทุบตีเลือดเต็มหน้า ถูกจับไปแขวนกับต้นมะขามในสนามหลวงถูกทุบจนเสียชีวิต บางคนถูกเผากับยางรถยนต์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน นักศึกษาหญิงถูกข่มขืน บางคนถูกไม้เสียบอวัยวะเพศ

ผมหลบในตึกสังคมฯ สุดท้ายถูกจับในวันรุ่งขึ้น เวลา 11 นาฬิกากว่าๆ จึงได้รู้ว่า หัวค่ำของวันที่ 6 มีรัฐประหาร โดยคณะทหารที่เรียกตัวเอง ” คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า
ตอนเช้า สังหารหมู่ ตกค่ำ ยึดอำนาจรัฐ ล้มระบอบประชาธิปไตย ฟื้นระบอบเผด็จการทหาร แล้วก็เป็นเผด็จการขวาจัด อีกด้วย

ในโอกาศครบ 38 ปี ของกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ผมขอรำลึกและสดุดีวีรชนที่พลีชีพ และผู้รอดชีวิตที่ถูกจับกุมคุมขังทุกคน การต่อสู้ของท่านเป็นสายธารหนึ่งของการต่อสู่เพื่อประชาธิปไตยวันนี้ แล้วก็ขอประนามผู้วางแผน คนสั่งการ และคนเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนหลายร้อยคนและจับกุมเกือบ 3 พันคน ถึงวันนี้ฆาตกรโหดเหล่านี้ ก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นส่วนใหญ่

ขอให้พวกนี้ พินาศ

# # # # #

‪#‎สรุปกรณีนองเลือด6ตุลาคม‬

‪#‎สาเหตุสำคัญ‬

1. การสูญเสียอำนาจผลประโยชน์และฐานะปกครองของเจ้า ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักธุรกิจนายทุนใหญ่เพราะความพ่ายแพ้ในกรณี 14 ตุลาคม 2516

2. ความหวาดกลัวการขยายตัวเติบใหญ่ของขบวนการนักศึกษา ประชาชน กรรมกร ชาวนาโดยเฉพาะขบวนการปฏิวัติ ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

3. หวาดกลัวคอมมิวนิสต์หลังการปฏิวัติใน 3 ประเทศอินโดจีน เขมร เวียดนามและลาวในปี 2518

4. สังคมไทยแบ่งเป็นขวา ซ้าย ต่อสู้ทุกปริมลฑลทางการเมือง ความคิดอุดมการณ์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเป็นเวลา 3 ปี

‪#‎เงื่อนไขและชนวน‬

1. ขบวนการนักศึกษาและประชาชนมีภาพพจน์เป็นซ้าย ชนชั้นกลางไม่สนับสนุน ถูกทางการและขบวนการขวาพิฆาตซ้ายข่มขู่คุกคามปราบปราม จับกุม เข่นฆ่า แทบทุกเดือน

2. การโจมตีใส่ร้ายป้ายสีจากพรรคการเมืองและกลุ่มขวาจัดสื่อมวลชน โดยเฉพาะชมรมวิทยุเสรี 200 สถานี จนทำให้สังคมเชื่อว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์เป็นส่วนใหญ่

3. ฝ่ายขวา อ้างสถาบันกษัตริย์มาโจมตี โดยเฉพาะการแต่งหน้าผู้แสดงถูกแขวนคอคล้ายพระบรมโอรสาธิราช

4. ไม่มีข้อมูลในการวิเคราะห์สถานการณ์

‪#‎ผลของเหตุการณ์‬

1. มีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บเกือบ 500 คน ถูกจับ 3,000 กว่าคน

2. เกิดรัฐประหาร ล้มระบอบประชาธิปไตยที่มาจากกรณี 14 ตุลาคม และมีการสถาปนาระบอบเผด็จการขวาจัด

3. ทำให้นักศึกษา ปัญญาชน ประชาชน เข้าป่าไปร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์

4. ชนชั้นปกครองเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกประนามจากทั้งในและนานาประเทศ จนต้องก่อรัฐประหารฟื้นระบอบประชาธิปไตย ความสามัคคีคนในชาติ

‪#‎บทเรียน‬

1. ชนขั้นปกครองเมื่อเผชิญกับการต่อสู้ของประชาชนอย่างขนานใหญ่ จะใช้วิธีการปราบปรามอย่างรุนแรงและเหี้ยมโหด

2. กลุมกึ่งทหาร (para-military) และมวลชนเมื่อถูกปลุกระดมทางความคิดจิตใจอุดมการณ์ จักสามารถทำลายล้าง สังหารอีกฝ่ายอย่างป่าเถื่อน เช่น เผาทั้งเป็น แขวนคอ

3. ในสภาพดุลย์กำลังต่างกันมาก จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีจากข้อแข็งข้ออ่อน ฝ่ายเขาและฝ่ายเรา มิใช่เริ่มจากจุดยืน ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง และที่สำคัญจะต้องประเมินสถานการณ์ให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะพ่ายแพ้ได้ง่ายๆ

จรัล ดิษฐาอภิชัย
7 ตุลาคม 2557