วันที่ 4 ตุลาคม 2519

10495590_1542261412677559_3587126644926696893_o

วันที่ 4 ตุลาคม 2519
วันนี้ เมื่อ 38 ปีที่แล้ว

4 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่ ศนท.นัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง
เช้าวันนั้น นายกรัฐมนตรีเสนีย์ ปราโมช ให้สัมภาษณ์ว่า 
รู้คนฆ่าแขวนคอที่นครปฐมแล้ว เป็นตำรวจ 

เข้าช่วงบ่ายนักศึกษาชมนุมการละคอนธรรมศาสตร์แสดงคนถูกแขวนคอที่ลานโพธิ์ 3 ชั่วโมงต่อมา สถานีวิทยุยานเกราะเริ่มออกข่าวใส่ร้ายว่า คนที่แสดงถูกแขวนคอหน้าละม้ายพระบรมโอรสาธิราช

การชุมนุมในสนามหลวงเริ่มขึ้น นักศึกษาและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทยอยมาร่วมหลายพันคน ในต่างจังหวัด นักศึกษาเชียงใหม่เกือบพันเดินขบวนเข้าไปในเมือง ฝ่ายขวาจัด ทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์โจมตีนักศึกษาอย่างหนักตั้งแต่เช้า

บ่าย กลุ่มกระทิงแดงเอารถตั้งเครื่องขยายเสียงโจมตีการชุมนุม อ้างชาติ ศาสนา และกษัตริย์ แต่ไม่มีแนวโน้มปะทะกัน

ตกค่ำ ฝนตก หนักขึ้นๆ แกนนำตัดสินใจย้ายผู้ชุมนุมเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีการรักษาความปลอยภัยอย่างเข้มงวด และพยายามหาข่าว ส่วนใหญ่ใช้วิทยุดักฟังและวิทยุคลื่นสั้น ฟังวิทยุยานเกราะกัน พอได้รู้ว่า ยานเกราะเริ่มใช้ละคอนแขวนคอมาโจมตี และมีการระดมลูกเสือชาวบ้านและตำรวจตระเวณชายแดนเข้ากรุงเทพฯ

ผมเอง ตามแผนต่อต้านรัฐประหาร ต้องไม่ไปชุมนุม
แต่ด้วยความเคยชินและเป็นห่วง ผมไปร่วมตั้งแต่ต้นที่สนามหลวง
แล้วตามเข้าธรรมศาสตร์ด้วย และอยู่จนสว่าง

บรรยากาศคืนนั้นบรรยากาศยังไม่ตึงเครียด
ในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ส่วนใหญ่คิดว่า
จะไม่มีรัฐประหารหรือการปราบปราม
ด้วยไม่รู้ว่า ทหารกลุ่มใดวางแผนจะทำ

การอภิปรายบนเวทีเน้นการโจมตีจอมพลถนอมและกลุ่มขวาจัด และให้ผู้ชุมนุมเตรียมความคิดจิตใจเผชิญกับเหตุร้าย ต่อต้านรัฐประหาร ผู้นำนักศึกษา สุธรรม แสงประทุม พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ธงชัย วินิจกุล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ ขึ้นปราศรัยสลับกับดนตรีเพลงเพื่อชีวิต จนสว่าง

ทุกคนไม่รู้ว่า หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และดาวสยาม กำลังตกแต่งภาพคนแสดงแขวนคอให้เหมือนกับเจ้าฟ้าชาย ตีพิมพ์หน้าหนึ่งฉบับวันที่ 5 ตุลาคม จุดชนวนกรณีนองเลือด 6 ตุลาคมในวันต่อมา

จรัล ดิษฐาอภิชัย
4 ตุลาคม 2557