วันที่ 3 ตุลาคม 2519
วันนี้ เมื่อ 38 ปีที่แล้ว
สถานการณ์วันที่ 3 ตุลาคม ไม่มีอะไรพิเศษ นอกจากข่าวการข่มขู่ของฝ่ายขวาจัด และการเตรียมชุมนุมใหญ่ในวันรุ่งขึ้น
จึงขอเล่าย้อนหลังไปถึงหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ อันเป็นหนังสือพิมพ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท) มาตั่งแต่หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 โดยใช้เงินของ ศนท. ที่ได้รับบริจาคหลังกรณีดังกล่าว และมีอภัยชนม์ วัชรสิน นิสิตจุฬา เป็นบรรณาธิการ
ต่อมา นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าเข้าไปทำ ยึดมาได้ ออกเป็นรายสัปดาห์ ทำมาเรื่อยๆ เข้าปีที่ 2 ปีที่ 3 มีปัญหาการเงินมากขึ้น ต้นปี 2519 จึงย้ายสำนักงานมาที่โรงพิมพ์ของพี่คนหนึ่งที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ผมไปข่วยเขียนบ่อยๆ ตั้งแต่จอมพลถนอมกลับเข้ามา
นสพ.อธิปัตย์ออกรายวัน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางความคิดการเมือง และปลุกระดมผู้รักประชาธิปไตย นสพ.อธิปัตย์ ตกเป็นเป้าการทำลายของฝ่ายขวาจัด
คงต้องเล่าอีกสักนิดว่า ทั้งแกนนำของขบวนการนักศึกษาประชาชนรวมทั้งหน่วยของผมมีการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์กันทุกวัน ในคืนวันที่ 3 ตุลาคม ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถคาดคะเนสถานการณ์ว่า จะมีรัฐประหารและปราบปรามวันใหน ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าคงมีรัฐประหารก่อนแล้วปราบ แต่การหาข่าวรัฐประหารค่อนข้างยากมากเวลานั้น
ส่วนการเตรียมต่อต้านรัฐประหาร แบ่งคนเป็น 2 แนว คนไปร่วมชุมนุมกับคนอยู่วงนอก เมื่อเกิดรัฐประหาร จะมีคนต่อต้านจำนวนหนึ่ง ในการตัดสินใจชุมนุมวันที่ 4 ตุลาคม แกนนำถกเถียงอภิปรายกันหนัก
ปัญหาแรก ควรหรือไม่ควรชุมนุม ภายใต้สถานการณ์ถูกคุกคามอย่างหนักและข่าวลือรัฐประหาร ส่วนใหญ่เห็นว่า จะต้องชุมนุม ซึ่งจะมีฐานะทางยุทธศาสตร์ของการต่อต้านแผนการรัฐประหาร เพราะต่างจังหวัดนักศึกษาชุมนุมมาหลายวันแล้ว
มีการตัดสินใจกันว่าจะจัดทึ่ใหน สนามหลวงหรือ ธรรมศาสตร์ สถานที่หลังมีข้อดี ที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอด และมีรั้วรอบขอบชิด มีตึกอาคารเป็นที่กำบัง แต่ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อธิการบดี สั่งปิดไปแล้ว สนามหลวงก็มีข้อดี ผู้คนมาร่วมได้ง่าย ถ้าถูกล้อมปราบ กระจายกันหลบหนีได้ง่าย
ในที่สุด แกนนำตกลง ชุมนุมในสนามหลวงก่อน หากมีปัญหา ย้ายเข้าธรรมศาสตร์ การเคลื่อนไหวของมวลชนฝ่ายขวาจัดบ่ายวันนั่น ได้นำรถขยายเสียงตระเวณโจมตี ศนท. และบางกลุ่มไปข่มขู่กลุ่มญาติวีรชน 14 ตุลาคม จนต้องย้ายมาอดข้าวประท้วงในธรรมศาสตร์
จรัล ดิษฐาอภิชัย
3 ตุลาคม 2557